ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบ
ปรับขนาดตัวอักษร
ภาษา
โครงการเด่น
ยะลา เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจนก YALA BIRD CITY

ยะลา เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจนก YALA BIRD CITY "สร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
และขยายช่องทางการจำหน่ายสู่ตลาดอาเซียน"

     งานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เป็นกิจกรรมที่เทศบาลนครยะลาจัดขึ้นต่อเนื่องมายาวนานถึง 26 ปี เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องประชาชนชาวยะลา และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวชวาวงศ์จากหลากหลายพื้นที่ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ด้วยศักยภาพการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ประกอบกับการตัดสินที่ยุติธรรม และความพร้อมในด้านสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐานและสามารถรองรับนกได้กว่า 1,500 นก ส่งผลให้งานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนเป็นงานแข่งขันนกเขาชวาที่ยิ่งใหญ่

     ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุในปฏิทินท่องเที่ยวของประเทศไทยเผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) แบบครบวงจร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับนก ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ คือ ธุรกิจฟาร์มนกและการเพาะเลี้ยงนกที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ขายลูกนกโดยผู้ซื้อจะมาซื้อถึงฟาร์ม และมีการส่งออกไปยังต่าง ประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ ธุรกิจกลางน้ำ คือ กลุ่มอาชีพทำกรงนก หัวกรงนก ตะขอกรงนก เป็นการนำทุนทางปัญญาในสังคม และศิลปะท้องถิ่นที่มีค่าให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ต้องอาศัยฝีมือ และความประณีตในการสร้างสรรค์ กลุ่มอาชีพ ตัดเย็บเสื้อกรงนก กลุ่มผลิตอาหาร อาหารเสริม และยารักษาโรคสำหรับนก เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหิน ผลไม้พื้นเมืองจังหวัดยะลา

     จากเดิมที่เคยมีราคาเพียงหวีละ 15 – 20 บาท กลับกลายเป็น 40-50 บาท เพราะกล้วยหินเป็นอาหารหลักของนกกรงหัวจุก ซึ่งสามารถส่งออกไปขายในต่างจังหวัดได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ อาหารนกชนิดอื่นๆ เช่น หนอนนก ผักผลไม้ ก็มีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจปลายน้ำ คือ ร้านน้ำชา ธุรกิจโรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร OTOP สินค้าที่นำมาเป็นของรางวัลทุกประเภท ของที่ระลึก รวมถึงสินค้าที่นำมาวางขายรอบๆ สนามแข่งขัน ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันนกชนิดต่าง ๆ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการค้าให้กับประเทศได้อีก

      ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จะช่วยดับไฟใต้ นำไปสู่สังคมที่มีความสงบสุขเพราะชาวชวาวงศ์ที่มาจากต่างเชื้อชาติ ศาสนา สามารถพูดภาษาเดียวกันได้อย่างถูกต้องและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในกิจกรรมท้องถิ่น

      เทศบาลนครยะลา ได้ดำเนินงานภายใต้นโยบาย "สร้างเมืองให้น่าอยู่ สร้างความรู้ สู่มวลชน สร้างสังคมให้โปร่งใส สร้างสานใจร่วมพัฒนา นครยะลาสู่สากล" ที่พยายามส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดยะลา และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พี่น้องชาวยะลามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้ ผู้มาเยือนยะลาเกิดความประทับใจ โดยนำปรัชญาพระราชทาน "เศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน และนำทุนทางกายภาพ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางด้านภูมิปัญญา มาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สมาคมและชมรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนก ร่วมกันผลักดันให้จังหวัดยะลาเป็นศูนย์กลางของการแข่งขันนก ส่งผลให้เศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หลายร้อยล้านบาท ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาการว่างงานและอาชญากรรมลงได้ และยังเป็นการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีของชาวภาคใต้ให้คงอยู่สืบไป